บทความ

สะพานแห่งกาลเวลา : ว่าด้วย ‘โดเมน.org’ (ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์)

on มกราคม 13, 2020        by Naritcha

เรื่อง “โดเมน.org” นี้กำลังเป็นเรื่องที่สั่นสะเทือนอินเตอร์เน็ตไปทั้งโลกครับ แต่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงกันมากนักเพราะซับซ้อนแล้วก็สับสนพอสมควร

ที่สำคัญก็คือไม่รู้ว่า คนต้นคิดที่จะทำเรื่องนี้ ทำเรื่องนี้ไปทำไมกัน

จะทำความเข้าใจเรื่องนี้ต้องเริ่มที่ การทำความเข้าใจคำว่า “ชื่อโดเมน” หรือ “โดเมน เนม” กันก่อนครับ

“ชื่อโดเมน” ก็คือชื่อที่ต่อท้ายชื่อเว็บไซต์ทั้งหลาย สำหรับสื่อสารให้คอมพิวเตอร์เข้าใจว่า เว็บไซต์ของเราอยู่ในกลุ่มไหน แล้วอยู่ตรงไหนของกลุ่มนั้น ๆ ซึ่งคอมพิวเตอร์จะเข้าถึงได้โดยที่อยู่ไอพีหรือไอพีแอดเดรสนั่นแหละครับ ชื่อโดเมน แยกออกได้หลายกลุ่ม ที่คุ้นเคยกันมากก็มี .net, .com, .co.th แล้วก็ .org ครับ

เป้าหมายของการมีชื่อโดเมน ก็เพื่อให้เราจดจำที่อยู่เว็บไซต์ได้ง่าย ๆ ไม่ต้องมานั่งจำไอพีแอดเดรส ที่เป็นตัวเลข 16 หลักนั่นเอง

คนที่อยากมีเว็บไซต์ ก็ต้องไปจดทะเบียนชื่อโดเมนกันก่อน หัวเรือใหญ่ที่คุมเรื่องการจดทะเบียนนี้คือ

“ไอแคนน์” ที่มีชื่อเต็ม ๆ ว่า “บรรษัทอินเตอร์เน็ตเพื่อกำหนดชื่อและหมายเลข” (Internet Corporation for Assigned Names and Numbers -ICANN) ซึ่งเป็น “องค์กรไม่แสวงกำไร” ที่ทำหน้าที่กำหนดนโยบายว่าชื่อโดเมนควรเป็นอะไรและทำงานอย่างไรครับ

ไอแคนน์ ยังมอบหมายให้มีนิติบุคคลมาทำหน้าที่ให้บริการจดทะเบียนให้กับโดเมนเนมและทำ “มาสเตอร์ เซิร์ฟเวอร์” ให้แต่ละกลุ่มอีกด้วย ชื่อโดเมน .org นั้น ไอแคนน์ มอบหมายให้ “อินเตอร์เน็ต โซไซตี้” หรือ “ไอซอค” องค์กรไม่แสวงกำไรอีกแห่งรับไป “ไอซอค” โยกเรื่องบริหารจัดการ .org ไปให้กับกิจการไม่แสวงหากำไรอีกแห่งชื่อ “พับลิค อินเตอร์เน็ต รีจิสทรี” หรือ “พีไออาร์” มาตั้งแต่ปี 2002

การกำหนดให้มีผู้บริการจดทะเบียนโดเมนนี้ ผู้ให้บริการต้องทำความตกลงกับไอแคนน์ เสียก่อนแล้วก็ต้องทำตามนโยบาย ที่สำคัญก็คือ มีการกำหนด “ราคาสูงสุด” เอาไว้พร้อมกำกับไว้ด้วยว่าต้องปรับขึ้นราคาค่าจดทะเบียนได้ไม่เกินปีละ 7-10 เปอร์เซ็นต์

.org นั้นถูกตั้งขึ้นมาเพื่อใช้สำหรับกิจการไม่แสวงกำไรทั้งหลายเป็นหลัก โดยเฉพาะองค์กรไม่แสวงกำไรที่ต้องการเผยแพร่ความรู้ ให้การศึกษา และปกป้องเสรีภาพในการแสดงออก ต่อต้านการเซ็นเซอร์ทั้งหลาย ราคาจดทะเบียนจึงถูกเป็นพิเศษ

ถ้าข้อมูลผมไม่ผิด พีไออาร์ เรียกเก็บค่าจดทะเบียนโดเมน .org เอาไว้ที่ 9.93 ดอลลาร์ต่อปีครับ ทั่วโลกมีคนจดทะเบียนในชื่อโดเมนนี้ 10 ล้านไซต์ ก็ได้ค่าจดทะเบียนปีละ 100 ล้านดอลลาร์โดยประมาณ

ข้ออ้างของ ไอแคนน์ ตอนนั้นก็คือ สองสามปีที่ผ่านมาตกลงกับผู้ที่รับบริการจดทะเบียนโดเมนใหม่ๆ ก็ไม่มีการกำหนดเพดานราคาสูงสุดเอาไว้ ก็เลยต้องทำให้เหมือน ๆ กัน

ตอนนั้นก็ประท้วงกันกระหึ่มมาแล้วหนึ่งรอบ

แต่เท่านั้นยังไม่พอ เมื่อพฤศจิกายนที่ผ่านมา ไอซอค ยังไปทำความตกลง “ขาย” การบริหารจัดการจดทะเบียนโดเมนเนม .org ให้กับบริษัทเอกชนที่แสวงกำไรชื่อ “อีธอส แคปิตอล” ในราคา 1,100 ล้านดอลลาร์

เล่นเอางงกันทั้งบางว่า ทำไมจู่ ๆ ถึงเอาของที่ไม่แสวงกำไร ไปขายให้อยู่ในการบริหารจัดการของกิจการที่แสวงกำไร ในราคาสูงขนาดนั้น

แล้วก็เชื่อกันว่า ไม่ว่า “อีธอส แคปิตอล” จะยืนยันไม่เปลี่ยนนโยบายเดิมอย่างไร วิธีเดียวที่จะหาเงินให้ได้คุ้มกับพันกว่าล้านที่ต้องควักจ่ายออกไปก็คือ ขึ้นค่าจดทะเบียนรายปี เพราะมีการ “เปิดช่อง” เอาไว้ก่อนแล้วว่าเรียกเก็บเท่าใดก็ได้

นอกจากนั้น ยังเชื่อกันด้วยว่า .org เป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น ลำดับต่อไป สิ่งเดียวกันนี้จะเกิดขึ้นกับทุกชื่อโดเมน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ .net และ .com

แล้วปัญหาเรื่องราคาจดทะเบียนจะลามออกไปทั่วโลกอินเตอร์เน็ต

ตอนนี้ก็เลยมีการรวมกลุ่มกันขนานใหญ่ในบรรดาผู้บุกเบิกอินเตอร์เน็ตทั้งหลาย เพื่อต่อต้าน “ดีล” หนนี้ มีการรวมตัวกันก่อตั้งเป็น “บรรษัทสหกรณ์ ผู้บริโภคแห่งแคลิฟอร์เนีย” เพื่อที่จะรับเป็นคนจัดการโดเมน .org แทนที่การขาย ในเวลาเดียวกันก็ กดดันให้ “ไอแคนน์” ซึ่งต้องเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบดีลนี้ภายใน 30 วันนับตั้งแต่ 30 ธันวาคมที่ผ่านมา ให้ชี้ขาดยกเลิกความตกลงครั้งนี้

หัวเรือใหญ่ในการต่อสู้ครั้งนี้ไม่ใช่ใครครับ คือ แคเธอรีน มาเฮอร์ ซีอีโอของวิกิมีเดีย ฟาวเดชัน เจ้าของเว็บไซต์ วิกิพีเดีย ที่เป็น .org ซึ่งมีผู้เข้าใช้สูงที่สุดในโลกนั่นแหละ

ศึกนี้ยังต้องติดตามให้กำลังใจกันต่อไปแบบไม่กะพริบตาครับ

ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์
Matichon Online – 13 มกราคม 2563
https://www.matichon.co.th/article/news_1881360

Share :

THNIC Facebook Page

Member of

โครงการของมูลนิธิ