สาระสำคัญของพระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565
ผู้เขียน ศ.ดร. ภูมินทร์ บุตรอินทร์ และ คุณเอกสิทธิ์ วินิจกุล
“พระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565”1 ได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษาอย่างเป็นทางการ ซึ่งพระราชกฤษฎีกานี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2566 เป็นต้นมา สำหรับพระราชกฤษฎีกาฯ ดังกล่าว ส่งผลต่อธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ซึ่งในปัจจุบันมีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุที่แพลตฟอร์มดิจิทัลมีการเชื่อมต่อระหว่างผู้ใช้งานจำนวนมาก ภายใต้เงื่อนไขในการให้บริการที่แตกต่างกัน ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาและความเสี่ยงต่อผู้บริโภคหลายประการ อาทิ การหลอกลวง สินค้าไม่ได้มาตรฐาน สินค้าเกิดความเสียหายแต่ผู้ส่งหรือผู้ขายไม่รับผิดชอบ ไม่มีความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยของข้อมูล เป็นต้น ดังนั้น การสร้างกลไกในการกำกับดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรม จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง กล่าวคือ
ความจำเป็นที่หนึ่ง การแก้ไขปัญหาบนแพลตฟอร์มที่อาจเกิดขึ้นได้ยาก
เนื่องจากแพลตฟอร์มดิจิทัลมีจำนวนผู้ใช้งานจำนวนมาก ภายใต้เงื่อนไขในการให้บริการที่แตกต่างกัน
ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาและความเสี่ยงที่มีต่อผู้ใช้บริการหลายประการ เช่น การละเมิดสิทธิส่วนบุคคล การเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จ การฉ้อโกงผู้บริโภค เป็นต้น การแก้ไขปัญหาเหล่านี้ทำได้ยาก เนื่องจากผู้ให้บริการแต่ละราย
มีเงื่อนไขในการใช้บริการที่แตกต่างกัน ขณะที่ผู้ใช้บริการอาจไม่ทราบว่าตนเองถูกละเมิดสิทธิ หรือไม่ได้รับความเป็นธรรม ตลอดจนไม่ทราบว่าควรดำเนินการอย่างไรในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น จากการที่ไม่มีช่องทาง
ในการเยียวยาความเสียหายที่ชัดเจน
ความจำเป็นที่สอง รัฐบาลขาดข้อมูลเกี่ยวกับแพลตฟอร์ม
รัฐบาลจำเป็นต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับแพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อใช้ในการกำหนดนโยบายและมาตรการกำกับดูแลที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเกี่ยวกับแพลตฟอร์มดิจิทัลอาจไม่เพียงพอหรือเข้าถึงได้ยาก เนื่องจากแพลตฟอร์มดิจิทัลเป็นธุรกิจที่เป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชน และหลายแพลตฟอร์มเป็นผู้ประกอบการที่อยู่ในต่างประเทศ
ดังนั้น การตรากฎหมายสำหรับการกำกับดูแลบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล จะช่วยให้รัฐบาลสามารถกำหนดนโยบายและมาตรการกำกับดูแลที่เหมาะสม สามารถแก้ไขปัญหาและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม
พระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบฯ กำหนดให้ธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลต้องแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับตนเองต่อสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยสำนักงานฯ มีหน้าที่ในการกำกับดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายและมาตรฐานที่กำหนดต่อไป
พระราชกฤษฎีกาฯ กำหนดให้มี “คณะกรรมการร่วมระหว่างหน่วยงานของรัฐ” ที่เป็นความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานของรัฐ เช่น หน่วยงานระดับกระทรวง กรม อัยการ สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขัน
ทางการค้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นต้น
เพื่อกำกับดูแลการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุมในมิติต่างๆ
ซึ่งความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของรัฐมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อกำกับดูแลการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล เนื่องจากธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลมีขอบเขตกว้างขวางและมีผลกระทบต่อหลายภาคส่วน
ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของรัฐจะช่วยให้สามารถกำกับดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุมยิ่งขึ้น
สำหรับสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ อาจจำแนกได้ ดังนี้
-
- การแจ้งข้อมูลการประกอบธุรกิจ กล่าวคือผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลต้องแจ้งข้อมูลการประกอบธุรกิจต่อสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ก่อนการประกอบธุรกิจ โดยข้อมูลการประกอบธุรกิจ ได้แก่ ชื่อผู้ประกอบธุรกิจ ประเภทบริการ ข้อมูลติดต่อ ข้อมูลผู้ถือหุ้น เป็นต้น
- ผู้ประกอบกิจการแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างชาติที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขการกำกับดูแล ต้องแจ้งข้อมูลสำคัญจำเป็นต่อสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์2 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า กฏหมายฉบับนี้มีขอบเขตการกำกับดูแลครอบคลุมถึงผู้ประกอบการที่อยู่ต่างประเทศแต่ให้บริการกับผู้ใช้งานในประเทศไทย
- การเปิดเผยข้อมูลแก่ผู้ใช้บริการ กล่าวคือผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลต้องเปิดเผยข้อมูลที่จำเป็นต่อผู้ใช้บริการอย่างโปร่งใสและครบถ้วน ข้อมูลที่ต้องเปิดเผย ได้แก่ เงื่อนไขในการให้บริการ การระงับหรือการหยุดให้บริการ และการคิดค่าบริการ ปัจจัยหลักของอัลกอริทึมหรือของหลักเกณฑ์ที่ผู้ประกอบธุรกิจใช้ในการจัดอันดับหรือแนะนำรายการสินค้าหรือบริการแก่ผู้ใช้บริการ เป็นต้น
- การคุ้มครองสิทธิและประโยชน์ของผู้ใช้บริการ กล่าวคือ ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลต้องจัดทำมาตรการการบรรเทาความเสียหายและการชดใช้หรือเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายจากการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล เช่น กระบวนการจัดการเรื่องร้องเรียน ช่องทางการให้ความช่วยเหลือผู้ใช้บริการซึ่งได้รับความเสียหายจากการใช้บริการ
- การส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรม ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลอยู่ภายใต้มาตรการกำกับดูแลอย่างเดียวกัน อันเป็นการส่งเสริมความโปร่งใสและเป็นธรรมระหว่างผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม
- การสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจและสังคม กล่าวคือ ประชาชนมีความเชื่อมั่นในการใช้บริการแพลตฟอร์มมากยิ่งขึ้น และจะได้รับการคุ้มครองเมื่อเกิดปัญหาจากการใช้บริการบนแพลตฟอร์ม โดยเฉพาะแพลตฟอร์มต่างชาติที่ให้บริการแก่ผู้บริโภคในประเทศไทย อันจะมีผลให้ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลกระทำการที่อยู่ในกรอบของกฎหมายอย่างเคร่งครัดมากยิ่งขึ้น
- การแจ้งข้อมูลการประกอบธุรกิจ กล่าวคือผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลต้องแจ้งข้อมูลการประกอบธุรกิจต่อสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ก่อนการประกอบธุรกิจ โดยข้อมูลการประกอบธุรกิจ ได้แก่ ชื่อผู้ประกอบธุรกิจ ประเภทบริการ ข้อมูลติดต่อ ข้อมูลผู้ถือหุ้น เป็นต้น
การดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายฉบับนี้อย่างมีประสิทธิภาพ สำนักงานฯ มีอำนาจถอนการรับแจ้งการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลได้ ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนด
พระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบฯ เป็นกฎหมายใหม่ที่ออกตามความในพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 อันเป็นกฎหมายหลักที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลธุรกรรมบนแพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย ดังนั้น การรักษาสมดุลของระบบนิเวศของระบบเศรษฐกิจแพลตฟอร์มเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากประชาชนทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์บนแพลตฟอร์มดิจิทัลมากกว่าที่เคยปรากฏในอดีต โดยมีรูปแบบการทำธุรกรรมแตกต่างจากการทำธุรกรรมและนิติสัมพันธ์ในอดีตค่อนข้างมาก หากแต่หลักคิดเบื้องหลังการกำกับดูแลยังควรต้องอยู่บนหลักสุจริตระหว่างผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ซึ่งรัฐต้องควบคุมดูแลให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายดำรงความสุจริตไว้ โดยแต่ละฝ่ายจะต้องส่งมอบคุณค่าให้ตรงตามที่อีกฝ่ายพึงได้รับด้วยความซื่อตรงต่อกัน และไม่ฉกฉวยประโยชน์จากคู่สัญญาอีกฝ่ายโดยไม่ชอบ ไม่โปร่งใส หรือไม่เป็นธรรม จึงถือเป็นความท้าทายสำหรับมาตรการที่ปรากฏอยู่ในกฎหมายนี้ จะบรรลุผลสัมฤทธิ์ที่น่าพอใจและเพียงพอที่จะคุ้มครองประโยชน์ของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายที่สุจริตหรือไม่ อย่างไร ตลอดจนบทลงโทษมีความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพเพียงพอหรือไม่ อย่างไร โดยเฉพาะกรณีที่ลงโทษกับผู้ประกอบกิจการจากต่างประเทศ แต่ให้บริการผู้ใช้งานในประเทศไทยว่าจะมีน้ำหนักเพียงพอที่จะยับยั้งการกระทำที่ไม่ชอบในระบบเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยหรือไม่
อีกประการหนึ่ง กฎหมายฉบับนี้ ได้ออกแบบกลไกการกำกับดูแลหรือการบังคับให้ผู้เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มหรือพ่อค้าและแม่ค้าบนแพลตตฟอร์ม ต้องแสดงข้อมูลที่ควรทำให้ปรากฏแก่ผู้ใช้งานโดยสมบูรณ์แล้วหรือไม่ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า มีกลไกป้องกันการไม่ให้ข้อมูลที่บิดเบือน (Disinformation) หรือมีการป้องกันการให้ข้อมูลที่ไม่ตรงตามความจริง (Misinformation) ปรากฏอยู่มากน้อยเพียงไร เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้ใช้งานแพลตฟอร์มดิจิทัลไม่ว่าฝ่ายที่เป็นผู้ขายหรือผู้ซื้อเองให้ได้รับข้อมูลที่จำเป็นในการรักษาผลประโยชน์ของตนอย่างเพียงพอแล้วหรือไม่
ท้ายที่สุด เชื่อว่าการวางกลไกกำกับดูแลกำลังได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาล
และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหานานัปการที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ในชั้นนี้การทำความเข้าใจมาตรการที่มีอยู่ในปัจจุบัน และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องช่วยสะท้อนผลการบังคับใช้และระดับผลสัมฤทธิ์ที่ปรากฏภายหลังจากมีการบังคับใช้พระราชกฤษฎีกาฯ ฉบับนี้ได้ ย่อมจะนำไปสู่ประโยชน์ที่จะได้รับการปรับปรุง แก้ไขให้สอดคล้องกับบริบททางด้านแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และสามารถแสวงหาแนวทางการกำกับดูแลที่เหมาะสมที่สุดภายใต้เงื่อนไขที่สังคมไทยมี ซึ่งกฎหมายฯ ฉบับนี้ ยังคงต้องการการพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เป็นลำดับไป
1 ชื่อเดิมคือ ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. …
(อ้างใน สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์, “คนทำธุรกิจ – คนใช้บริการ “แพลตฟอร์มดิจิทัล”ต้องรู้ 6 ข้อ! เกี่ยวกับกฎหมายธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล”, (6 กรกฎาคม 2565). <https://www.etda.or.th/ th/ Useful-Resource/ 6Platform.aspx> (สืบค้นข้อมูลเมื่อ 6 เมษายน 2566)
2 ตามพระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 นี้กำหนดให้
ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล (Digital Platform) ต้องแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจและการให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลให้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) ภายใต้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมทราบก่อนการประกอบธุรกิจ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล (Digital Platform) ให้บริการภายใต้มาตรฐานเดียวกัน โดยมุ่งกำกับดูแลแพลตฟอร์มดิจิทัลทั้งที่มีผู้ประกอบกิจการเป็นคนไทยและที่เป็นต่างชาติที่ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล
แก่ผู้ใช้งานในไทย โดยพระราชกฤษฎีกานี้กำหนดลักษณะของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลแก่ผู้บริโภคในราชอาณาจักรไทยไว้หลายประการ ตามมาตรา 8 ของพระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565
นอกจากนี้ ในมาตรา 9 ของพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว บัญญัติว่า “ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งประกอบธุรกิจอยู่นอกราชอาณาจักร แต่ให้บริการแก่ผู้ใช้บริการซึ่งอยู่ในราชอาณาจักร ต้องแจ้งการประกอบธุรกิจต่อสำนักงานตามมาตรา 8 ด้วยและตามมาตรา 10 ของพระราชกฤษฎีกานี้ยังให้ถือว่าบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลนอกราชอาณาจักรที่มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ระบุไว้ 7 ประการในมาตรานี้เป็นการให้บริการแก่ผู้ใช้บริการซึ่งอยู่ในราชอาณาจักร อย่างไรก็ตาม การทบทวนมาตรการที่ครอบคลุมธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิทัลในส่วนของตลาดซื้อขายอิเล็กทรอนิกส์ที่มีผู้ประกอบกิจการต่างชาติยังอยู่ระหว่างการพัฒนา (สรุปความจากพระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565)
THNIC Facebook Page
RECENT POST
- รวมข่าว ทีเอชนิค ร่วมกับ สกมช. และ TICPA จัดสัมมนา “DNSSEC กับการป้องกันภัยไซเบอร์” เดินหน้าส่งเสริมความปลอดภัยของอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ธันวาคม 4, 2024
- ครูโสออนเลิร์น.ไทย สร้างการเรียนรู้ไร้ขีดจำกัด ส่งเสริมผู้เรียนเป็นนวัตกรในยุคดิจิทัล พฤศจิกายน 28, 2024
- .th DNSSEC Status Report พฤศจิกายน 26, 2024
- ทีเอชนิค ร่วมกับ สกมช. และ TICPA จัดสัมมนา “DNSSEC กับการป้องกันภัยไซเบอร์” เดินหน้าส่งเสริมความปลอดภัยของอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย พฤศจิกายน 26, 2024
- THNIC Academy จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ Computational Thinking Workshop สำหรับครูมัธยมศึกษา จังหวัดสุรินทร์ พฤศจิกายน 22, 2024